ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 20 กันยายน 2567
พ่อค้าไอซ์เหิม แหกกรง สน.พญาไท วางแผนล่อสิบเวร สกรัม-จับขังแทน สุดท้ายเข้ามอบตัว
หยามตำรวจพญาไท สองผู้ต้องหาคดียาเสพติด ก่อเหตุระทึกกลางดึก ออกอุบายยืมมือถือจากรอง สวป.โทร.หาเพื่อนให้ขับรถเก๋งสีแดงมาจอดรอหน้า สน.พญาไท อาศัยจังหวะเผลอกระชากรองสวป.เข้าไปในห้องขังรุมสกรัมแล้วยัดใส่ซังเต ก่อนวิ่งขึ้นรถหลบหนี คล้อยหลังไม่ถึงสี่ชั่วโมงทั้งหมด ทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องเข้ามอบตัวที่ สภ.สีดา จ.นครราชสีมา ด้าน ผบก.น.1 สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบด่วน ไขข้อข้องใจมีเจ้าหน้าที่รู้เห็นหรือไม่
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วรรคสอง ถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรกได้กระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วรรคสาม ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2517 จำเลยส่งใบเลื่อยให้แก่ ห. ซึ่งถูกคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวน ห. ใช้ใบเลื่อยที่จำเลยส่งให้นั้นเลื่อยลูกกรงห้องขังแล้วหลบหนีไป การกระทำของจำเลยมิได้เป็นการทำให้ ห. หลุดพ้นจากการคุมขังอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 191แต่จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้ ห. ผู้ถูกคุมขังหลบหนีจากการคุมขังซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 190 ประกอบด้วยมาตรา 86
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา191แต่บรรยายฟ้องมาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ประกอบด้วยมาตรา 86 จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิดศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4915/2537 จำเลยเป็นผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ที่ห้องขังของสถานีตำรวจเวลา 8 นาฬิกา นายดาบตำรวจส. เสมียนคดี แจ้งความประสงค์ต่อนายดาบตำรวจก. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สิบเวรว่าได้รับคำสั่งจากพนักงานสอบสวนให้มาพิมพ์ลายนิ้วมือของจำเลย นายดาบตำรวจก. ไขกุญแจห้องขังเปิดประตูเพื่อใส่กุญแจมือจำเลยก่อนนำจำเลย ออกจากห้องขัง แต่จำเลยวิ่งสวนทางออกมาวิ่งหลบหนีลงไป ทางบันได สิบตำรวจตรีฉ. ซึ่งยืนอยู่ตรงที่พักบันไดประสบเหตุดังกล่าวจึงเข้าสกัดจับจำเลยไว้ได้ การที่จำเลยซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ ในห้องขังสถานีตำรวจอันเป็นการควบคุมที่เจ้าพนักงานตำรวจ จัดกำหนดขอบเขตเอาไว้ ออกจากขอบเขตดังกล่าวโดยผู้มีอำนาจ ควบคุมจำเลยยังมิได้อนุญาตในลักษณะของการวิ่งหลบหนี ออกมาพ้นเขตควบคุมแล้วไม่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามจับกุม จำเลยได้หรือไม่ก็ตาม การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการหลบหนี ไปในระหว่างที่ถูกคุมขังของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องหลบหนีให้พ้นออกไปจากตัวอาคารของสถานีตำรวจจึงจะถือว่าการหลบหนีสำเร็จ
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
เนติบัณฑิตยสภา
สงสัยกฎหมาย 0816116174 ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี
[vid_embed]
ดูเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/100044524780558/posts/1068050921355724
เพจ Facebook :
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี