ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 9 มีนาคม 2567
ขี้ยาผลักพ่อตกชั้น 3 รับอดนอน 4 วัน พี้กัญชานํ้าท่อม
พิษกัญชา-น้ำกระท่อม ทำหนุ่มเพ้อสติแตกมีคนตามฆ่า คว้ามีดดาบล็อกคอพ่อบังเกิด เกล้าคาระเบียงชั้น 3 ของแมนชันย่านคลองตัน ก่อนยื้อยุดแย่งมีดผลักพ่อตกจากระเบียงลงมาบาดเจ็บ ตำรวจเข้าระงับเหตุควบคุมลูกทรพี ไม่วายถูกมีดบาดที่มือขวาเจ็บ 1 นาย หลังได้สติเจ้าตัวเอาแต่พร่ำขอโทษพ่อ อ้างเบลอเพราะอดหลับอดนอนมา 4 วัน
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๙๕ ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๙๖ ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๙๗ ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(๓) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(๔) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(๕) แท้งลูก
(๖) จิตพิการอย่างติดตัว
(๗) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(๘) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2547 จำเลยเข้าไปขอเงินและยืมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายผู้เป็นบิดาของจำเลย แต่ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยจึงใช้อาวุธมีเหน็บปลายแหลมฟันแทงผู้เสียหายที่หัวไหล่ด้านขวาและศีรษะอย่างละหนึ่งครั้ง แล้วแทงที่หลังของผู้เสียหายอีกหนึ่งครั้ง ยังไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาถึงขนาดจะต้องมุ่งประสงค์ต่อชีวิตของผู้เสียหาย ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการมึนเมาสุรา แม้จะไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์แวดล้อมให้เห็นว่าการที่จำเลยใช้อาวุธมีดเหน็บปลายแหลมแทงผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้กระทำโดยแรง โดยจะเห็นชัดเจนว่า เมื่อจำเลยใช้มีดเหน็บปลายแหลมฟันแทงผู้เสียหายแล้ว ส. ผู้เป็นตาของจำเลยก็สามารถเข้าไปแย่งมีดจากจำเลยไว้ได้ จำเลยจึงวิ่งหลบหนีไป ขณะเกิดเหตุ ส. มีอายุถึง 73 ปี จำเลยมีอายุเพียง 24 ปี หากจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายแล้ว จำเลยก็น่าจะสามารถขัดขืนมิให้ ส. ผู้สูงอายุกว่าแย่งมีดเหน็ปลายแหลมไปได้ ประกอบลักษณะบาดแผลที่ศีรษะ หัวไหล่ด้านขวาและกลางหลัง แม้จะเป็นอวัยวะที่สำคัญ แต่แพทย์ก็ให้ความเห็นว่าถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะหายภายในสองสัปดาห์ อันแสดงว่าบาดแผลมิได้เกิดจากการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้ถึงแก่ความตาย เมื่อบาดแผลที่ผู้เสียหายผู้เป็นบิดาของจำเลยได้รับเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายบุพการีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 296 นอกจากนี้แม้จำเลยจะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายผู้เป็นบุพการีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยก็ให้การรับสารภาพแสดงให้เป็นว่าจำเลยได้รู้สำนึกในความผิดของตน และผู้เสียหายได้เบิกความว่า ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยเนื่องจากเป็นบุตรชายเพียงคนเดียว เมื่อจำเลยไม่เคยต้องรับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเพื่อรักษาสายสัมพันธ์ทางครอบครัว อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4581/2543 จำเลยใช้มีดดาบฟันผู้เสียหาย 2 ครั้ง ขณะผู้เสียหายอยู่ในมุ้งแล้วไม่ได้ฟันซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสกระทำได้ ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่แขนและใบหูไม่ถึงสาหัส การที่มีบาดแผลเพียงใบหูเกือบขาด แสดงว่าคมมีดถูกศีรษะผู้เสียหายไม่แรงส่วนที่มีมุ้งกีดขวาง ก็เป็นสภาพที่มีอยู่ก่อนจำเลยลงมือกระทำหาใช่เหตุขัดขวางที่เกิดขึ้นภายหลังลงมือกระทำ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าบุพการีแม้ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า หากรับฟังว่าเป็นเพียงกรณีทำร้ายร่างกายก็จะต้องลงโทษฐานทำร้ายร่างกายบุพการี ก็ย่อมแปลได้ว่า โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296ด้วยแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ
แหล่งที่มา:
– ไทยรัฐออนไลน์
– สำนักวิชาการ
– กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
สงสัยกฎหมาย 0816116174 ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี
[vid_embed]
ดูเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/100044524780558/posts/949360629891421
เพจ Facebook :
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี